top of page
2_edited.png

          ป.พ.พ. ม.149 ให้ความหมายของ “นิติกรรม” ไว้ว่า หมายถึง การกระทำของบุคคลที่  ทำลงโดยชอบด้วยกฎหมายและด้วยใจสมัคร ซึ่งผู้กระทำมีเจตนามุ่งผลในทางกฎหมาย มุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคล ก่อให้เกิดผลในการเคลื่อนไหวในสิทธิ คือ การก่อสิทธิ เปลี่ยนแปลงสิทธิ โอนสิทธิ สงวนสิทธิ หรือระงับซึ่งสิทธิ

สำนักงานกฎหมายนิติกาญจย์และเพื่อน

NITIKARN  SOLICTORS  OFFICE

ประเทภของนิติกรรม

นิติกรรม : Juristic acts

นิติกรรมสามารถแบ่งลักษณะออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่

          ประเภทแรก นิติกรรมฝ่ายเดียว กับ นิติกรรมสองฝ่าย

                    - นิติกรรมฝ่ายเดียว เพียงบุคคลแสดงเจตนาออกมาฝ่ายเดียวก็สำเร็จเป็นนิติกรรมแล้ว ซึ่งยังแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ นิติกรรมฝ่ายเดียวโดยเคร่งครัด เช่น การทำพินัยกรรม และนิติกรรมฝ่ายเดียวซึ่งต้องมีผู้รับการแสดงเจตนา เช่น การบอกเลิกสัญญา การรับสภาพหนี้

                    - นิติกรรมสองฝ่ายหรือหลายฝ่าย ซึ่งต้องมีการแสดงเจตนาของทุกฝ่ายจึงจะสำเร็จเป็นนิติกรรม เช่น สัญญาต่างตอบแทน สัญญาซื้อขาย สัญญาเช่าทรัพย์ สัญญายืม

          ประเภทที่สอง นิติกรรมที่มีผลเมื่อผู้ทำยังมีชีวิตอยู่ กับ นิติกรรมที่มีผลเมื่อผู้ทำตายแล้ว

                    - นิติกรรมที่มีผลเมื่อผู้ทำยังมีชีวิตอยู่ เช่น การบอกเลิกสัญญา การรับสภาพหนี้ สัญญาซื้อขาย สัญญาเช่าทรัพย์ สัญญายืม

                    - นิติกรรมที่มีผลเมื่อผู้ทำตาย เช่น การทำพินัยกรรม       

   

          ประเทภที่สาม นิติกรรมที่มีค่าตอบแทน กับ นิติกรรมที่ไม่มีค่าตอบแทน

                    - นิติกรรมที่มีค่าตอบแทน เช่น สัญญาซื้อขาย สัญญาเช่าทรัพย์ สัญญายืม

                   - นิติกรรมที่ไม่มีค่าตอบแทน เช่น การให้โดยเสน่หา การยืมใช้คงรูป

แบบของนิติกรรม

          แบบของนิติกรรม หมายถึง วิธีการที่กฎหมายกำหนดไว้เพื่อบังคับให้ผู้แสดงเจตนาต้องปฏิบัติตามเป็นพิเศษนอกเหนือจากการแสดงเจตนาทำนิติกรรมทั่วไป ดังนั้น ถ้าผู้ทำนิติกรรมปฏิบัติไม่ถูกต้องหรือไม่ปฏิบัติตามย่อมทำให้นิติกรรมนั้นตกเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. ม. 152

         

          ชนิดของแบบแห่งนิติกรรม มี 4 ชนิด ได้แก่

                    1. ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

                              - ซื้อขาย (ม.456 ว.1)    

                              - ขายฝาก (ม.491)       

                              - แลกเปลี่ยน (ม.519)                                          

                              - ให้ (ม.525)          

                              - จำนอง (ม.714)

                              - การได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพย์สิทธิเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ (ม.1299 ว.1)

                              - การแลกเปลี่ยน ระงับ และกลับคืนมาแห่งทรัพย์สิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ (ม.1301)

                   2. ทำเป็นหนังสือต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

                              - พินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง (ม.1658)         

                              - พินัยกรรมแบบเอกสารลับ (ม.1660)

                              - พินัยกรรมแบบทำด้วยวาจา (ม.1663 ว.ท้าย)

                   3. จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

                              - การจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนสามัญ (ม.1064)       

                              - การจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนสามัญ (ม.1078)

                              - การจดทะเบียนบริษัทจำกัด (ม.1111)

                              - การจดทะเบียนสมรส (ม.1457)

                              - การจดทะเบียนหย่า (ม.1515)

                              - การจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตร (ม.1548)

                              - การจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรม (ม.1598/27)

                   4. ทำเป็นหนังสือ

                              - หนังสือรับสภาพหนี้ (ม.193/14)                   

                              - โอนหนี้ (ม.306)

                              - เช่าซื้อ (ม.572)                                      

                              - ข้อตกลงคิดดอกเบี้ยทบต้น (ม.655)

                              - ตัวแทน (ม.798)                                     

                              - ตั๋วเงิน (ม.908,982,987)

                              - สัญญาก่อนสมรส (ม.1466)                         

                              - การหย่า (ม.1514)

                              - พินัยกรรม (ม.1656,1657)

                  สังเกต : นิติกรรมที่ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ กฎหมายบังคับให้ลงลายมือชื่อเฉพาะคู่กรณีฝ่ายที่ต้องรับผิดเท่านั้น แม้ฝ่าฝืนก็มีผลเพียงไม่อาจฟ้องร้องบังคับกันได้เท่านั้น ไม่มีผลทำให้นิติกรรมตกเป็นโมฆะ เช่น

                             - สัญญาจะซื้อจะขาย (ม.456 ว.2)

                             - การเช่าอสังหาริมทรัพย์ (ม.538)

                             - การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาท (ม.653)

                             - สัญญาค้ำประกัน (ม.680 ว.2)

ความไม่เป็นผลแห่งนิติกรรม

          ความไม่เป็นผลแห่งนิติกรรม มี 2 กรณี ได้แก่

          1. โมฆะกรรม หมายความว่า นิติกรรมหรือการกระทำใดที่กระทำลงไปนั้นเป็นการเสียเปล่า ไม่มีผลตามกฎหมายตั้งแต่แรก

                    หลักเกณฑ์

                           - ไม่อาจให้สัตยาบันแก่กันได้ คู่กรณีในนิติกรรมที่เป็นโมฆะไม่อาจแสดงเจตนาภายหลังเพื่อทำให้นิติกรรมนั้นสมบูรณ์ขึ้น

                           - ผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดยกเอาความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมขึ้นกล่าวอ้างได้ การยกขึ้นกล่าวอ้างไม่มีกำหนดระยะเวลา

                           - แม้การกล่าวอ้างความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมจะไม่มีกำหนดระยะเวลา แต่การใช้สิทธิเรียกร้องเอาทรัพย์คืนฐานลาภมิควรได้ ต้องใช้สิทธิภายในกำหนดอายุความ

                           - นิติกรรมที่เป็นโมฆะบางส่วนแต่อาจสมบูรณ์บางส่วนได้ 

                           - นิติกรรมที่เป็นโมฆะนั้น อาจสมบูรณ์เป็นนิติกรรมอย่างอื่นได้

                    ผลของโมฆะกรรม

                           - ถ้าคู่กรณีแห่งนิติกรรมที่เป็นโมฆะ ได้ชำระหนี้โดยรู้ว่าตนไม่มีความผูกพันที่ต้องชำระ ชำระหนี้ตามอำเภอใจ จะเรียกทรัพยคืนฐานลาภมิควรได้ไม่ได้

                           - ถ้าคู่กรณีแห่งนิติกรรทที่เป็นโมฆะ ชำระหนี้ในหนี้ที่มีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศลีธรรมอันดีของประชาชน จะเรียกคืนทรัพย์ที่ชำระไปไม่ได้ 

          2. โมฆียะกรรม หมายความว่า นิติกรรมที่มีผลใช้บังคับได้ตามกฎหมายนับแต่ทำนิติกรรมนั้น จนกว่าจะถูกบอกล้างให้เป็นโมฆะแต่แรกเริ่ม หรืออาจให้สัตยาบันทำให้นิติกรรมนั้นสมบูรณ์แต่เริ่มแรกได้เช่นกัน

                     หลัักเกณฑ์

                            - อาจถูกบอกล้างให้กลายเป็นโมฆะ คือ ไม่มีผลตามกฎหมายหรือสูบเปล่าได้

                            - อาจได้รับการให้สัตยาบัน ทำให้นิติกรรมนั้นกลายเป็นนิติกรรมที่สมบูรณ์ ไม่เป็นโมฆียะอีกต่อไป ซึ่งสมบูรณ์ย้อนหลังขึ้นไปจนถึงวันที่ทำนิติกรรมนั้น

                     ผลของการบอกล้าง

                            - หากคู่กรณีต้องการบอกล้าง ต้องบอกล้างภายในกำหนด 1 ปีนับแต่วันที่อาจให้สัตยาบันได้ (เวลาที่มูลเหตุให้นิติกรรมเป็นโมฆียะได้สูญสิ้นไป) หรือภายในกำหนด 10 ปี นังแต่ทำนิติกรรม

                            - เมื่อบอกล้างแล้ว คู่กรณีต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม ถ้าเป็นการพ้นวิสัยให้ชดใช้ค่าเสียหายแทน

                            - เมื่อกลับคืนสู่ฐานะเดิมแล้ว คู่กรณีต้องใช้สิทธิอันเกิดแต่การกลับคืนสู่ฐานะเดิมภายในกำหนด 1 ปีนับแต่วันบอกล้าง

                      ผลของการให้สัตยาบัน      

                            - ทำให้นิติกรรมนั้นสมบูรณ์แต่เริ่มแรก 

                            - การให้การรับรองนิติกรรมที่เป็นโมฆียะให้มีผลตามกฎหมายนั้น ทำให้หมดสิทธิที่จะบอกล้างโมฆียะกรรมนั้นได้อีก

bottom of page